วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กินอย่างไรเมื่อเป็นโรคไตเรื้อรัง ผญ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ

การหลีกเลี่ยงโรคไต คือการรู้จักดูแลตนเองและป้องกันไม่ให้เป็นโรค หรือถ้าเริ่มเป็นแล้วก็ควรระมัดระวังไม่ให้โรครุนแรงขึ้นจนเข้าถึงภาวะที่เรียกว่าไตวายระยะสุดท้าย เพราะเมื่อถึงเวลานั้นไม่เพียงแต่ผู้ป่วยเท่านั้นที่ทุกข์ทรมาน ครอบครัวและคนใกล้ชิดก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
รู้จักโรคไตเรื้อรัง
ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของคนเรา ทำงานหนักมากและไม่มีเวลาพักผ่อน หน้าที่หลักของไตคือ การกรองของเสียจากเลือดและขับถ่ายออกทางปัสสาวะ รวมทั้งรักษาดุลของน้ำ เกลือแร่และความเป็นกรดด่างของเลือด 3โรคไตเรื้อรัง จะแสดงอาการออกมาในลักษณะที่เรียกกันว่า ไตเสื่อมหรือไตวาย ซึ่งหมายถึงภาวะที่มีการทำงานของไตลดลง จนเกิดการคั่งของเสียประเภทยูเรีย และของเสียอื่นๆ โดยปกติเราจะรู้ว่าไตเสื่อมมากหรือน้อยได้ด้วยการเจาะเลือด และวัดค่าของเสียบียูเอ็น (blood urea nitrogen) และค่าครีอะตินีน (creatinine) ถ้าค่าบียูเอ็นและครีอะตินีนสูงกว่าค่าปกติมาก แสดงว่าไตมีการสูญเสียมาก
ชนิดของภาวะไตวาย
ภาวะไตวายมี ๒ แบบคือ ภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานเพียงชั่วคราว และการทำงานของไตสูญเสียอย่างถาวร
แบบที่ ๑ ภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานเพียงชั่วคราว สามารถฟื้นกลับมาทำหน้าที่ได้อีกหากรักษาไตจนหายเป็นปกติ ภาวะไตวายชั่วคราวนี้ เรียกได้อีกชื่อว่า โรคไตแบบเฉียบพลัน
แบบที่ ๒ การทำงานของไตสูญเสียอย่างถาวร ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งเรียกว่าแบบเรื้อรัง
ปัญหาไตเสื่อมนั้นมาจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากอาการไตอักเสบ หรือการเป็นนิ่วในไต ที่ทำให้ไตมีการเสื่อมสภาพลง ปัจจัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมได้ เช่น การได้รับสารพิษ การกินอาหารเค็มจัด หรือการได้รับอาหารประเภทโปรตีนมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน จนทำให้ไตทำงานหนักติดต่อกันตลอดเพื่อขับของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคไตแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง
ไตเรื้อรังไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใด ในท้ายที่สุดจะทำให้เกิดภาวะยูรีเมีย (uremia) เหมือนกัน ซึ่งจะมีอาการ ซีด บวม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน สะอึก ซึมลง ในบางรายที่มีอาการหนัก อาจทำให้มีอาการหัวใจวาย หรือเจ็บหน้าอกจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ถ้าไม่รักษาอาจชัก ซึมลง หมดสติและเสียชีวิตได้
ถึงแม้ว่าไตเรื้อรังรักษาไม่หาย แต่ป้องกันได้หรือชะลอไม่ให้เนื้อไตที่เหลืออยู่เสื่อมสภาพลงไปอีกได้ แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าผู้ป่วยโรคไตบางคนละเลยการรักษา จนทำให้ไตวายอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิต
การตรวจพบโรคไตและรักษาตั้งแต่ระยะแรก ร่วมกับการดูแลเอาใจใส่ตนเอง ปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดมีความสำคัญมากในการป้องกัน
ไม่ให้ไตเสียมากขึ้น จนกลายเป็นไตวายในระยะสุดท้าย ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ได้รับความทุกข์ทรมานมาก และสิ้นเปลืองในการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) หรือโดยการล้างไตด้วยน้ำทางช่องท้อง (continuous ambulatory peritoneal dialysis, (CAPD) หรือการปลูกถ่ายไตในบางราย
รู้จักกินช่วยป้องกันไม่ให้ไตเสียมากขึ้น-การกินอาหารให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ไตที่เหลืออยู่มีความสามารถในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการชะลอไม่ให้เนื้อไตถูกทำลายมากขึ้นจนเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้าย
อาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ และถั่วต่างๆ เป็นกลุ่มอาหารที่คนเป็นโรคไตเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือดต้องกินลดลง อาหารโปรตีนเมื่อกินเข้าไปแล้ว ร่างกายจะเผาผลาญให้เป็นหน่วยย่อยๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แล้วจะเหลือสารประกอบสุดท้ายที่เป็นของเสีย จำพวกยูเรีย ครีอะตินีน ที่เป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องขับออกโดยไต การกินอาหารโปรตีน จะทำให้ไตต้องทำงานหนัก และเกิดการเสื่อมสภาพมากขึ้นได้ง่าย
รายงานการศึกษาทางคลินิกพบว่า การลดอาหารโปรตีนลงจะทำให้อาการของโรคไตวายลดลงด้วย โดยทั่วไปผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังควรกินโปรตีนประมาณ ๓ ใน ๔ ของคนปกติกิน เช่น ถ้าปกติกินเนื้อสัตว์วันละ ๘-๑๐ ช้อนกินข้าว เมื่อเป็นโรคไตเรื้อรังต้องกินลดลงเหลือประมาณ ๖-๗ ช้อนกินข้าว หรืออาจจะต้องน้อยกว่านี้ถ้าไตมีการเสื่อมสภาพมากขึ้น การไปพบแพทย์และเจาะเลือดตรวจเป็นระยะๆ จะเป็นตัวช่วยบอกว่าควรจะกินอาหารโปรตีนมากหรือน้อยเพียงใด
เมื่อต้องควบคุมปริมาณโปรตีน ดังนั้นโปรตีนที่กินอย่างจำกัดนี้จึงควรเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง (high biological value) หมายถึงโปรตีนจำพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ เนื่องจากมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน ซึ่งดีกว่าโปรตีนจากพืชหรือถั่วต่างๆ ที่อาจมีการขาดกรดอะมิโนที่จำเป็นบางตัว ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้เต็มที่ และอาจเกิดการสูญเสียดุลไนโตรเจนได้ คนเป็นไตเรื้อรังบางรายที่ต้องลดปริมาณการกินเนื้อสัตว์ลงอย่างมาก เช่น น้อยกว่า ๓-๔ ช้อนกินข้าวต่อวัน แพทย์อาจจะสั่งให้กินกรดอะมิโนที่จำเป็นเสริมร่วมไปด้วย
แม้จะมีการจำกัดโปรตีนลง แต่ร่างกายยังต้องการพลังงานอย่างเพียงพอในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายสลายโปรตีนที่กินได้อย่างจำกัดนั้นมาเป็นแหล่งของพลังงาน คนเป็นโรคไตเรื้อรังจึงต้องกินอาหารพวกข้าวแป้งให้เพียงพอด้วย เพื่อให้ร่างกายดึงพลังงานจากส่วนนี้มาใช้
อย่างไรก็ตาม ควรเข้าใจว่าอาหารพวกข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ขนมปัง และผลิตภัณฑ์จากข้าวต่างๆ ถึงแม้ว่าเป็นแหล่งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีส่วนประกอบของโปรตีนอยู่ด้วย ประมาณ ๒ กรัมต่อ ๑ ทัพพี ดังนั้น จึงต้องระวังไม่กินอาหารประเภทข้าวเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เพราะอาจจะทำให้ได้โปรตีนมากเกินไป ยกเว้นอาหารพวกแป้งบางชนิดที่เกือบจะไม่มีโปรตีน ได้แก่ วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ สาคู ลอดช่องสิงคโปร์ ซ่าหริ่ม รวมมิตร แป้งข้าวโพด แป้งมัน อาหารเหล่านี้สามารถกินได้โดยไม่ต้องคิดคำนวณปริมาณโปรตีน
นอกจากโปรตีนแล้วคนเป็นโรคไตเรื้อรังต้องระวังไม่กินอาหารที่มีโซเดียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัสสูง คนเป็นโรคไตเรื้อรังในระยะแรกที่ยังไม่มีปัญหาว่ามีโพแทสเซียม และ/หรือฟอสฟอรัสในเลือดสูงอาจไม่จำเป็นต้องควบคุมก็ได้ เพราะไตยังสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ดีพอสมควร
อาหารที่มีโพแทสเซียมสูงที่ควรระวัง ได้แก่
ถั่วเมล็ดแห้ง โดยเฉพาะถั่วดำและถั่วปากอ้า
ผักที่มีสีเขียวเข้ม สีเหลืองเข้ม เช่น หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโคลี่ ดอกกะหล่ำ ใบคะน้า ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศ แครอต (ผักที่มีโพแทสเซียมไม่สูงมากและกินได้ เช่น แตงกวา น้ำเต้า บวบ ฟักเขียว มะเขือยาว ถั่วฝักยาว ผักกาด)
ผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีสีเหลือง เช่น ส้ม กล้วย ทุเรียน มะม่วงสุก ขนุน มะขามหวาน และผลไม้แห้งทุกชนิด เช่น ลูกเกด ลูกพรุน
อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงที่ควรระวัง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่แดง นมสด เนยแข็ง เมล็ดพืช ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น
อาหารที่มีโซเดียมสูงที่ควรระวัง ได้แก่ อาหารที่มีรสเค็ม จากการใช้เครื่องปรุงรสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม น้ำบูดู ซุปก้อน ผงปรุงรสต่างๆ คนที่มีปัญหาเรื่องไต ต้องระวังไม่ใส่เครื่องปรุงรสต่างๆ มากในขณะประกอบอาหาร โดยทั่วไปเติมเกลือได้ครึ่งช้อนชาต่อวัน หรือ เติมน้ำปลา ซีอิ๊วรวมกันได้ไม่เกิน ๓ ช้อนชาต่อวัน และต้องไม่เติมเครื่องปรุงรสเหล่านี้เพิ่มในระหว่างการกินอาหาร รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง อาหารว่างที่ออกรสเค็ม อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม หมูยอ หมูหยอง อาหารสำเร็จรูป จำพวกโจ๊ก บะหมี่ วุ้นเส้น และขนมขบเคี้ยวต่างๆ ทุกชนิด
คนเป็นไตเรื้อรังควรระวังไม่กินอาหารที่มีไขมันมากและอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงด้วย จึงควรกินอาหารที่ปรุงด้วยวิธีการต้ม นึ่ง ย่าง มากกว่าวิธีการทอดหรือผัดที่ใส่น้ำมันมาก รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสัตว์หรือมีกะทิมาก เพราะมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นได้ง่าย ส่งผลให้หลอดเลือดต่างๆ เสื่อมได้ง่ายขึ้น
สำหรับเรื่องน้ำดื่ม ถ้ายังสามารถถ่ายปัสสาวะได้ตามปกติ และไม่มีอาการบวม ก็ไม่ต้องจำกัดปริมาณน้ำดื่ม ยังคงดื่มได้ ๖-๘ แก้วต่อวัน แต่ถ้ามีอาการบวม หรือเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ควรจำกัดน้ำดื่มลง โดยดื่มน้ำปริมาณเท่ากับปริมาณปัสสาวะต่อวันที่ขับออกมา นอกจากนี้ คนเป็นโรคไตเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงการดื่ม ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โคล่า เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีทั้งโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณค่อนข้างสูงด้วย
แนวทางการกินข้างต้นมีส่วนสำคัญในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง และยังช่วยป้องกันหรือชะลอมิให้โรคไตเรื้อรังรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการรักษาของแพทย์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ป่วยโรคไตเรื้อรังจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด กินยาอย่างสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด และหากเจ็บป่วยไม่ควรซื้อยากินเอง เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลเสียต่อไตโดยตรงทำให้ไตเสื่อมยิ่งขึ้น
สำหรับอาหารผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รักษาโดยการฟอกเลือดหรือล้างไตแล้ว โปรดติดตามฉบับหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น