วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปัจจัยเสี่ยง,การใช้ยาของผู้ป่วยโรคไต

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไต ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด
การใช้ยาของผู้ป่วยโรคไต
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ไตทำงานผิดปกติ สามารถจัดตามสาเหตุได้เป็นกลุ่มๆ ดังนี้
1. โรคต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการทำลายไต เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคผิดปกติของภูมิคุ้มกันตนเอง โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคนิ่วในไต โรคติดเชื้อในกระแสโลหิต เป็นต้น
2. ลักษณะเฉพาะของบุคคล อันได้แก่ อายุที่มากขึ้น และประวัติของคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคไต
3. พฤติกรรมสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ คนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย เป็นต้น
4. การใช้ยาที่มีอันตรายต่อไตในที่นี้ขอขยายความเรื่องโรคที่เป็นต้นเหตุของโรคไต และยาที่มีอันตรายต่อไต

ยาที่มีอันตรายต่อไต
ยาที่มีผลต่อไต ได้แก่ ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (หรือ NSAIDs) ยาปฏิชีวนะ ยาลิเทียม สมุนไพร เป็นต้น ซึ่งยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนกลัยโคไซด์ และยาลิเทียม เป็นยาสั่งจ่ายโดยแพทย์หรืออยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์จึงขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่จะกล่าวถึงยา NSAIDs (อ่านว่า "เอ็นเสด") ซึ่งมีการใช้กันอย่างกว้างขวาง
ยา NSAIDs ประกอบด้วย ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์กลุ่มเก่า และยากลุ่มค็อกทูอินฮิบิเตอร์ (COX II inhibitors) ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ดี จึงมีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายกรณีที่มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดข้อ ปวดฟัน ใช้ลดไข้แก้ตัวร้อน และใช้ลดการอักเสบ บวม แดง ร้อน จากการอักเสบของข้อ และกล้ามเนื้อต่างๆ
ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้รักษาตามอาการ หมายความว่าถ้ามีอาการก็ให้ใช้ยา และเมื่อหายดีแล้วหรืออาการทุเลาลงแล้วก็ขอให้หยุดยา ไม่จำเป็นต้องใช้ติดต่อกันจนหมด เพราะยากลุ่มนี้จะส่งผลลดเลือดไปเลี้ยงที่ไต และส่งผลต่อการทำงานของไตได้
อีกปัญหาหนึ่งที่พบเกี่ยวกับยานี้คือ เรื่องความซ้ำซ้อนของการได้ยา เช่น ผู้ป่วยปวดข้อไปหาหมอคนที่หนึ่ง ก็จะได้ยากลุ่มนี้อยู่แล้ว ถ้ามีอาการไข้หวัดและไปหาหมอคนที่ 2 ก็อาจได้ยาลดไข้ แก้ตัวร้อน แก้ปวดหัว ซึ่งก็เป็นยากลุ่มนี้เช่นกัน เมื่อได้ใช้ยาของแพทย์ทั้ง 2 คน ก็จะเกิดการซ้ำซ้อนของการใช้ยา เป็นการเพิ่มพิษของยาที่มีต่อไตให้มากขึ้นได้
นอกจากผลเสียของยา NSAIDs ที่มีต่อไตแล้ว ยานี้เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้บ่อยอีกด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

การใช้ยาของผู้ป่วยโรคไต
ตั้งแต่ต้นจะพูดถึงการหลีกเลี่ยงการทำลายไต ลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคและยาที่จะมีผลต่อไตได้ และต่อไปจะกล่าวถึงการใช้ยาของผู้ป่วยโรคไต
ยาส่วนใหญ่ขับออกจากร่างกายทางไต
ส่วนใหญ่ของยาที่เข้าสู่ร่างกายจะถูกขับหรือกำจัดออกจากร่างกายทางไต ส่วนใหญ่ ขับทิ้งออกมาพร้อมกับน้ำปัสสาวะประมาณว่า ร้อยละ 80-90 ของยาทุกชนิดที่มีใช้กันอยู่บนโลกนี้จะถูกขับทางไต ส่วนที่เหลืออีกเล็กๆ น้อยๆ จะถูกขับออกทางอุจจาระหรือปอด
การที่ยาถูกขับออกทางปัสสาวะนี้ เป็นผลให้ระดับของยาในร่างกายลดต่ำลง และหมดฤทธิ์ของยาลงด้วย
ผู้ป่วยโรคไต จะใช้ยาเหมือนผู้ป่วยทั่วๆ ไปไม่ได้
ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องไต ไตเสื่อม หรือไตทำงานได้ลดน้อยลง ปริมาณยาที่อยู่ในร่างกายก็จะถูกขับทิ้งได้น้อยลง เป็นผลให้ยาอยู่ในร่างกายได้นานยิ่งขึ้น และ/หรือมีปริมาณสูงขึ้น
ถ้าผู้ป่วยโรคไตได้รับยาขนาดเดียวกันกับผู้ป่วยที่ไตทำงานปกติ ก็จะส่งให้ระดับยาสะสมอยู่ในร่างกายนานขึ้น และ/หรือระดับสูงขึ้น จนอาจทำให้เกิดพิษ เป็นอันตรายกับผู้ป่วย และอาจถึงแก่ชีวิตได้

ผู้ป่วยโรคไต ห้ามซื้อยากินเอง
ผู้ป่วยโรคไตจะใช้ยาเหมือนผู้ป่วยทั่วๆ ไปไม่ได้ เพราะแพทย์มีการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับระดับการทำงานของไต ทั้งนี้เพื่อคงผลการรักษาที่ดี พร้อมทั้งผดุงความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยโรคไต
ดังนั้น ก่อนใช้ยาเพิ่มเติม ผู้ป่วยโรคไตจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อจะได้แนะนำการใช้ยาอย่างเหมาะสม ไม่เกิดอันตรายเพิ่มเติมกับไต และได้ยาขนาดที่เหมาะสมกับภาวะการทำงานของไตแต่ละคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น